ตัวทำแข็งเรซิ่นและตัวม่วง

6668 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตัวทำแข็งเรซิ่นและตัวม่วง

5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับตัวทำแข็งเรซิ่น

          จากการทำงานร่วมกับลูกค้ามือใหม่มายาวนาน ลูกค้าหลายๆท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ ตัวทำแข็งเรซิ่น หรือที่เรียกว่า Hardener (สั้นๆเรียกกันว่า Hard หรือ ฮาร์ด) ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์และเป็นความรู้สำหรับทุกท่าน โดยคำถามที่เราได้พบบ่อยๆ คือ

1.   ตัวทำแข็งสำหรับเรซิ่น แตกต่างอย่างไรจากตัวม่วง ใช้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งได้ไหม?

          ตอบสั้นๆคือ ไม่ได้ ต้องใช้ทั้ง 2 อย่าง โดยในกระบวนการที่จะทำให้เรซิ่นซึ่งเป็นของเหลวสามารถแห้งหรือแข็งตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง ต้องใช้สารประกอบ 2 อย่างได้แก่ ตัวม่วง และ ตัวทำแข็ง โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการแข็งตัวได้  หลักการทำงานของตัวทำแข็ง พูดให้เห็นภาพง่ายๆคือ จะทำให้เกิดความร้อนซึ่งส่งผลให้เรซิ่นแข็งตัว

          ข้อสำคัญที่สุด คือ ห้ามนำตัวม่วงและตัวทำแข็งผสมกันโดยตรงเด็ดขาด จะทำให้ไฟลุก

2.   ต้องใช้ตัวเร่งแข็งเท่าไรกันแน่ 0.5%, 1%, หรือ 2% ?

●     ตามหลักการแล้ว 2% จะเป็นมาตรฐานเพื่อให้เรซิ่นทำงานได้ดีที่สุด แต่ลูกค้าอาจสามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามสภาวะการทำงาน (working environment)

●     ในสภาวะที่อากาศร้อน เช่น ในฤดูร้อน อาจลดปริมาณตัวเร่งลงเป็น 1.5% (เนื่องจากอากาศที่ร้อนอยู่แล้วมีส่วนช่วยในการทำให้เรซิ่นแข็งได้)

●     ในสภาวะที่อากาศเย็นหรือชื้น เช่น ในฤดูหนาวหรือฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณตัวเร่ง ให้ใช้ที่ 2% คงเดิม

●     แต่ปริมาณต่ำสุด คือ 0.5% ถ้าต่ำกว่านี้เรซิ่นอาจไม่แข็งได้และจะทำให้สูญเสียเรซิ่นไปเลย

●     ปริมาณการใช้สุดท้ายจะส่งผลต่อระยะเวลาการแห้งของเรซิ่น ซึ่งทางลูกค้าสามาถลองผิดลองถูกได้ว่าที่ % เท่าไรถึงจะเหมาะกับสภาพการทำงานของเรา

3.   ตัวทำแข็งต้องชั่งโดยใช้ปริมาตรหรือโดยน้ำหนักกันแน่?

               ตัวทำแข็งต้องใช้โดยน้ำหนัก ไม่ใช่โดยปริมาตร เช่น ถ้า เรซิ่นหนัก 100 กรัม, ให้ใช้ตัวทำแข็ง 2 กรัม

4.   MEKPO คืออะไร และแตกต่างอย่างไรกับ ตัวทำแข็ง หรือ Hardener?

               MEKPO ย่อมาจาก Methyl Ethyl Ketone Peroxide ซึ่งจริงๆแล้วก็คือชื่อเรียกทางเคมีของ    ตัวทำแข็ง หรือ Hardener นั่นเอง

5.   จุดเด่นของ ตัวทำแข็ง ยี่ห้อ Luperox DDM-F คืออะไร?

●     Luperox DDM-F มีความหนาแน่นต่ำ (คิดง่ายๆคือน้ำหนักเบา) ซึ่งส่งผลให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นเพราะปริมาณตัวทำแข็งที่ต้องใช้จะน้อยอยู่แล้วที่ไม่เกิน 2% (หรือ 2 กรัมต่อเรซิ่น 100กรัม) เหตุผลคือ DDM-F 2 กรัม จะมีปริมาตรที่มากกว่าตัวทำแข็งทั่วๆไป (คิดง่ายๆว่าถ้าเท DDM-F 2 กรัมใส่แก้วน้ำ จะได้น้ำที่เยอะเต็มแก้วมากกว่า ทำให้ผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันกับเรซิ่นได้ทั่วถึงมากขึ้น)

●     คุณภาพเทคโนโลยีจากยุโรป ที่เป็นผู้นำตลาดมานาน

●     ความเสถียรของสินค้าสูง ทำให้สูตรปริมาณการใช้เวลาทำงานแม่นยำ เช่น ถ้าใช้ 2% ก็ใช้ 2% เท่าเดิมตลอดไม่ต้องเปลี่ยนแม้ว่าจะเก็บไว้ซักระยะ เพราะปริมาณ active ingredients (ตัวสารที่ทำปฏิกิริยา) ยังคงเดิม

ตัวม่วง

          ตัวม่วง หรือ cobalt ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาซึ่งจะทำให้เรซิ่นเกิดการแข็งตัวได้ที่อุณหภูมิห้องโดยจะทำหน้าที่กันคนละอย่างกับตัวทำแข็งแต่เป็นการทำงานร่วมกัน คำถามที่พบเจอบ่อยๆ คือ

1.   ไม่ใช้ตัวม่วงได้หรือไม่?

               ไม่ได้ ตัวม่วงเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งในกระบวนการปฏิกิริยาที่ใช้เพื่อให้เรซิ่นแข็งตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง

2.   แล้วทำไมกับเรซิ่นบางตัวไม่เห็นต้องใช้ตัวม่วงเลยก็ยังแห้งได้?

คำตอบคือ ตัวม่วงได้ถูกผสมไว้เรียบร้อยแล้วในเรซิ่น (pre promoted) นั่นเอง

3.   อย่างนี้เลือกใช้เรซิ่นที่ผสมตัวม่วงไว้ก่อนไม่ดีกว่าหรือ?

               เรซิ่นที่ pre promoted หรือผสมตัวม่วงมาก่อนหน้าแล้ว อาจจะมีข้อดีคือสะดวกเวลานำไปใช้งานเนื่องจากผสมเพิ่มอีกแค่ตัวเดียว คือ ตัวทำแข็ง  แต่ข้อจำกัดที่อาจต้องพิจารณา คือ เรซิ่นที่ผสมตัวม่วงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จะมีอายุการเก็บที่สั้นกว่า

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้